บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
(Executive summary)
รายงานการเฝ้าระวังโรค
ประจำปี พ.ศ. 2549 ได้ข้อมูลหลักจากระบบเฝ้าระวัง ที่ดำเนินการโดยสำนักระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค ซึ่งประกอบด้วยระบบเฝ้าระวังโรค 506 ระบบเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพ
และสิ่งแวดล้อม ระบบเฝ้าระวัง การบาดเจ็บ ระบบเฝ้าระวังโรคในพื้นที่พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย
และระบบเฝ้าระวังโรคในแรงงานต่างชาติ โดยได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งอื่นมาประกอบด้วย
เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น แหล่งข้อมูลเสริมเหล่านี้ มาจากรายงานการสอบสวนโรค
เฉพาะราย รายงานการสอบสวนโรคที่สำคัญ ๆ รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ข้อมูลเฝ้าระวังเฉพาะโรคจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
บทวิเคราะห์ในรายงานฉบับนี้
นำเสนอข้อมูลของโรคที่มีรายงานผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2549 จำนวน 68
โรค จากโรคที่อยู่ภายในระบบเฝ้าระวังทั้งหมด 81 โรค (จัดแบ่งตามรหัสโรค)
เหตุการณ์ที่สำคัญ และน่าสนใจหลายเรื่อง ทั้งโรคติดต่อ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน และภัยธรรมชาติ
สถานการณ์โรคที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การระบาดของเชื้อ Enterovirus
71 ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว จากอาการปอดบวมน้ำเฉียบพลันรุนแรง
ปี พ.ศ. 2549 มีรายงานเด็กที่เสียชีวิต ด้วยสาเหตุนี้ 8 ราย
ในจำนวนนี้ 3 ราย ตรวจพบเชื้อ Enterovirus 71 ผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นเด็ก
มีอาการนำด้วยไข้ 1 - 3 วัน ร่วมกับอาการเฉพาะของโรค ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็ก
โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลดี ต้องรายงานโรคอย่างเร่งด่วน
และต้องทำการสอบสวนโรค และควบคุมป้องกันโรคทันที
ปี พ.ศ. 2549 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก 3 ราย ถึงจะมีจำนวนน้อยกว่าปี
พ.ศ. 2547 - 2548 แต่ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด จากการสอบสวนพบว่า
อาการ และอาการแสดงของผู้ป่วยบางรายแตกต่างไปจากที่เคยพบมา คือ
ไข้หวัดนกในปี พ.ศ. 2549 มีอาการไม่ชัดเจน ไม่ตรงไปตรงมา ทำให้การวินิจฉัยโรค
และการสอบสวนโรคยุ่งยาก และซับซ้อนยิ่งขึ้น อาหารเป็นพิษจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บ
ที่เกิดจากเชื้อ Clostridium botulinum ได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
มีผู้ป่วย 148 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยมากที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานในประเทศไทย
มีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจมากกว่า 40 ราย และเป็นครั้งแรกที่มีการนำ
botulinum toxin มาใช้ในประเทศไทย การที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้
เป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาที่ฉับไว และเข้มแข็ง ของทีมเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว
(SRRT) ของหน่วยงานสาธารณสุข และโรงพยาบาล ในระดับพื้นที่และการสนับสนุนจากส่วนกลาง
อาหารเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานเห็ดพิษ ที่ขึ้นตามธรรมชาติในฤดูฝน
ยังมีผู้เสียชีวิตทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคเหนือ อีกสาเหตุหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การรับประทานเมล็ดสบู่ดำ
ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กนักเรียนชั้นประถมต้น ปัญหานี้มีโอกาสที่จะพบได้อีกในปีต่อ
ๆ ไป เนื่องจากขณะนี้มีการส่งเสริมการปลูกต้นสบู่ดำเพื่อทำน้ำมันเชื้อเพลิง
จึงควรเผยแพร่ความรู้พิษของสบู่ดำแก่กลุ่มเสี่ยงอย่างทั่วถึง
นอกจากโรคใหม่ ๆ ที่มีรายงานมากขึ้น โรคที่เคยเป็นปัญหาต่อเนื่องแต่ยังมีปัญหาในการป้องกันควบคุมโรค
ก็มีอยู่หลายโรคที่น่าจับตา เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ที่มีผู้เสียชีวิต
ปีละ 19 - 20 ราย กลับเพิ่มขึ้นเป็น 25 ราย ในปี พ.ศ. 2549 โรคไข้เลือดออกถึงแม้ว่าจะมีการระบาดไม่รุนแรงนักในช่วง
2 - 3 ปีที่ผ่านมา แต่มีโอกาสสูงที่โรคนี้จะกลับมาระบาดรุนแรงอีกในปีต่อไป
เนื่องจากลักษณะแนวโน้มการระบาดในอดีต ที่มักจะมีการระบาดแบบสองปีเว้นสองปี
ร่วมกับปัจจัยที่เอื้อต่อการระบาด ยังคงมีอยู่สูงมาก ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ
สำนักระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค เริ่มดำเนินการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อ
(โรคเรื้อรัง) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยเลือกโรคที่เป็นปัญหา
และเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
และหัวใจขาดเลือด ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ถึงแม้ว่า ไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดชัดเจนเหมือนกลุ่มโรคติดเชื้อ
แต่ก็เป็นปัญหาใหญ่เพราะเป็นโรคเรื้อรัง และมีผู้ป่วยจำนวนมาก
โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง แต่ที่น่าสนใจ คือ จังหวัดที่พบว่ามีอัตราป่วยสูงเป็นจังหวัดในภาคกลางทั้ง
3 โรค สำหรับระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังที่ดำเนินการเก็บข้อมูลจากจุดเฝ้าระวัง
(Sentinel sites) ได้แก่ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาคต่าง
ๆ รวม 29 แห่ง ในปี พ.ศ. 2549 สำนักระบาดวิทยา ได้ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาระบบการสอบสวนการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน
ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของเหตุการณ์แต่ละครั้ง
ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีที่มีน้ำท่วม อย่างกว้างขวางในทุกภาคของประเทศ
ทำให้เกิดการระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส อย่างรุนแรงที่จังหวัดน่าน
มีอัตราป่วยสูง มากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมด้วยกัน
ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา เป็นข้อมูลที่ได้จากโรงพยาบาล
และสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะมาจากโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
และบางส่วนมาจากโรงพยาบาลของรัฐในส่วนราชการอื่น และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง
แต่ข้อมูลดังกล่าว ก็สามารถบอกแนวโน้มของสถานการณ์ และการกระจายของโรคตามบุคคล
เวลา สถานที่ ได้ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลส่วนอื่น
ๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะบรรณาธิการวิชาการ
|