2550
--------------------------
         
หน้าแรก

          คำนำ
          บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
          สารบัญ
          ดรรชนี
          กองบรรณาธิการ
          ที่ปรึกษา
--------------------------


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ปี 2550
ANNUAL EPIDEMIOLOGICAL SURVEILLANCE REPORT 2007
 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive summary)

      หนังสือสรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำปีที่จัดทำโดยสำนักระบาดวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม สรุปข้อมูลเฝ้าระวังของโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศหรือในภูมิภาคในปีที่ผ่านมาโดยเทียบกับข้อมูลในปีก่อนๆ ร่วมกับรวบรวมสิ่งที่เป็นองค์ประกอบส่วนอื่นๆ ของข้อมูลเฝ้าระวัง เช่น ข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือข้อมูลจากการสอบสวนโรค เป็นต้น เพื่อให้ผู้สนใจสามารถพิจารณาแนวโน้ม พื้นที่เสี่ยง หรือประชากรกลุ่มเสี่ยงของโรคนั้นๆ จากข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์ เรียบเรียงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการแปลผลข้อมูลเฝ้าระวังต้องมีการคำนึงเสมอว่ามีความแตกต่างกับข้อมูลสถิติ เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของระบบเฝ้าระวัง คือ การตรวจจับปัญหาได้อย่างทันท่วงทีจึงสามารถมีการรายงานแม้เพียงแต่สงสัยว่าจะเป็นโรคนั้นๆ ข้อมูลบางส่วนอาจมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งนี้หากมีการปรับปรุงความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวโดยการแจ้งข้อมูลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัย (โดยใช้รายงาน 507) จะทำให้ข้อมูลนี้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
      สำหรับบทวิเคราะห์ในรายงานฉบับนี้ นำเสนอข้อมูลของโรคที่มีรายงานผู้ป่วยในปีนี้ จำนวน 68 โรค จากโรคที่อยู่ภายในระบบเฝ้าระวังทั้งหมด 81 โรค (จัดแบ่งตามรหัสโรค) สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญในปี พ.ศ.2550 ยังคงเป็นโรคติดต่อซึ่งมีบางเหตุการณ์ทำให้เกิดการแพร่ไปยังประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบาดเจ็บจากการจราจรทางอากาศ
      ในปี พ.ศ.2550 สถานการณ์โรคที่สำคัญ คือ การระบาดใหญ่ของเชื้ออหิวาตกโรคในหลายจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Vibrio cholerae serogroup 01, serotype Ogawa ซึ่งพบมากในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการระบาดในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักระบาดวิทยาได้ดำเนินการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุร่วมกันของการระบาดในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางจังหวัดของภาคกลาง พบว่ามีความสัมพันธ์กับการรับประทานหอยแครงที่ส่งมาจากนอกพื้นที่ ทั้งนี้เชื้อ Vibrio cholerae El Tor Ogawa ในปีนี้ยังคงมีการดื้อต่อยา Tetracycline เกือบร้อยละ 100
      นอกจากนี้ยังมีรายงานโรคติดต่อที่ทำให้เกิดการป่วยในประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โรคบิดจากเชื้อ Shigella sonnei ในหลายพื้นที่ของประเทศเดนมาร์กและบางเมืองของประเทศออสเตรเลียซึ่งสัมพันธ์กับการรับประทานข้าวโพดอ่อนที่ส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการรวมถึงการสอบสวนและควบคุมโรคที่ดีสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการส่งออกได้อย่างสูง
      เหตุการณ์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อุบัติเหตุเครื่องบินโดยสารไถลออกนอกรันเวย์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 89 ราย และจากผลการศึกษาพบว่าการเสียชีวิตส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับท่านั่งที่ไม่เหมาะสมในขณะที่เครื่องลงจอดฉุกเฉิน เช่น การเสียชีวิตจากการถูกกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะ ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับเก้าอี้ด้านหน้า หากมีการนั่งในท่าที่เหมาะสมร่วมกับมีระยะห่างระหว่างแถวผู้โดยสารมากพอที่จะปฏิบัติตามท่านั่งในคู่มือความปลอดภัยอาจทำให้สามารถลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง
      นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายงานการเฝ้าระวังโรคฉบับนี้ โดยท่านผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ "บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางด้านระบาดวิทยา 2550" ซึ่งสามารถดูได้จาก website ของสำนักระบาดวิทยา

คณะบรรณาธิการวิชาการ